11 อันดับประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก
ในทุกๆ ปี ทาง World Economic Forum (WEF) จะรายงานภาพรวมเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเก็บข้อมูลจากความมั่นคงของธนาคารและความซับซ้อนทางธุรกิจของแต่ละประเทศ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มารายงานภาพรวมเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก
ซึ่งแต่ละประเทศจะถูกจัดอันดับโดยการให้คะแนนตามตัวชี้วัด “ความสามารถในการแข่งขันทั้ง 12 ด้าน (12 pillars of competitiveness)” ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน ในด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สุขภาพและระบบการศึกษาเบื้องต้น (Health and Primary Education) และประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labour Market Efficiency) เป็นต้น
โดยทางเว็บไซต์ Business Insider ได้เจาะลึกไปที่ข้อมูลทางการศึกษาและได้จัดอันดับประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดมาทั้งหมด 11 อันดับ (เนื่องจากมี 3 ประเทศที่ได้อันดับ 9 ร่วมกัน จึงทำให้จำเป็นต้องจัดเป็น 11 อันดับ) และนี่ก็คือ 11 ประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก
อันดับ 11 ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีมาโดยตลอด ทั้งทางด้านการอ่านออกเขียนได้ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ภายใต้กลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนทุกคนจะต้องเรียนจบระดับประถม 6 ปี และอีก 6 ปี ในระดับมัธยมตอนต้นและตอนปลาย โดยนักเรียนทุกคนจะไม่ถูกบังคับให้เรียนในระดับมัธยม แต่จากผลการศึกษาปรากฎว่า นักเรียนเกือบ 98% ก็เลือกที่จะเรียนต่อในระดับมัธยม
อันดับที่ 10 ประเทศบาร์เบโดส
รัฐบาลบาร์เบโดสทุ่มเงินให้กับระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติแล้ว ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ทุ่มเงินให้ระบบการศึกษาสูงสุดเลยก็ว่าได้ โดยนักเรียนจะเรียนในระดับประถมตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ถึง 11 ขวบ และระดับมัธยมจากอายุ 11 ขวบจนถึง 18 ปี ซึ่งโรงเรียนในประเทศบาร์เบโดสนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรงเรียนของรัฐบาล
อันดับ 9 ประเทศนิวซีแลนด์
การศึกษาระดับประถมและมัธยมในประเทศนิวซีแลนด์นั้นจะเริ่มตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ไปจนถึง 19ปี และช่วงอายุที่บังคับเรียนจะอยู่ในระหว่าง 6 ขวบ ถึง 16 ปี โรงเรียนมัธยมในประเทศนิวซีแลนด์จะมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ประมาณ 85% ของนักเรียนทั้งหมดจะเรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐบาล 12% จะเรียนโรงเรียนกึ่งรัฐบาล(โรงเรียนเรียนเอกชนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากทางรัฐ) และอีก 3% ที่เหลือจะเรียนในโรงเรียนเอกชน
อันดับ 8 ประเทศเอสโตเนีย
จาก สถิติ ในปี 2558 ชี้ว่า 4% ของ GDP ภายในประเทศของเอสโตเนียนั้น ได้ลงทุนไปกับระบบการศึกษา โดยพระราชบัญญัติการศึกษาของประเทศเอสโตเนีย ระบุว่าเป้าหมายของการศึกษาไว้ว่า “ให้สนับสนุนการสร้างเงื่อนไขอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาครอบครัว และพัฒนาประเทศชาติ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และชีวิตความเป็นอยู่ในเอสโตเนีย รวมทั้งเพื่อสอนคุณค่าการเป็นพลเมืองที่ดีและปลูกฝังการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทั้งประเทศ”
อันดับ 7 ประเทศไอร์แลนด์
โรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่ในประเทศไอร์แลนด์เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งและบริหารโดยเอกชนแต่รัฐเป็นผู้ออกเงินให้ นอกจากนี้ก็ยังมีโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนอาชีวศึกษาด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ได้มีรายงานว่าเงินที่ใช้ลงทุนกับระบบการศึกษาของประเทศไอร์แลนด์ได้ลดลงถึง 15% อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินช่วงปี 2551 ถึง 2556 ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบการศึกษาของประเทศได้ในอนาคต
อันดับ 6 ประเทศกาตาร์
ในปี 2555 มี รายงานจากสำนักงานข่าว BBC ว่าประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างกาตาร์ “กำลังลงทุนเม็ดเงินในระบบการศึกษาของประเทศมากขึ้น ช่วยสนับสนุนโปรเจคต่างๆ มากมายตั้งแต่สามัญชนระดับรากหญ้าไปจนถึงงานวิจัยชิ้นใหญ่ในระดับมหาวิทยาลัย” ประเทศกาตาร์ได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศ โดยโรงเรียนรัฐบาลจะมีโครงการเรียนฟรีสำหรับผู้ที่มีสัญชาติกาตาร์ และนักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่ก็จะเรียนในโรงเรียนเอกชน
อันดับ 5 ประเทศเนเธอร์แลนด์
งานวิจัยของ Unicef ในปี 2556 ระบุว่า เด็กชาวเนเธอร์แลนด์เป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาที่กำลังมุ่งหน้านำประเทศอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โรงเรียนส่วนใหญ่จะไม่สั่งการบ้านเยอะจนกว่านักเรียนจะขึ้นระดับมัธยม ซึ่งจะไม่สร้างความกดดันและความเครียดให้แก่นักเรียน โรงเรียนจะแบ่งเป็นโรงเรียนศาสนา โรงเรียนรัฐบาล และส่วนน้อยที่เป็นโรงเรียนเอกชน
อันดับ 4 ประเทศสิงคโปร์
ประเทศสิงคโปร์ทำคะแนนได้สูงมากทีเดียวในการสอบ PISA ซึ่งเป็นการสอบที่มีเป้าหมายเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาของที่นี่ก็ถือว่าสร้างความกดดันและความเครียดให้กับเด็กอายุน้อยๆ เป็นอย่างมากเลยทีเดียว
อันดับ 3 ประเทศเบลเยียม
ในประเทศเบลเยียมจะมีการแบ่งประเภทของโรงเรียนมัธยมศึกษาออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ โรงเรียนมัธยมทั่วไป โรงเรียนเทคนิค โรงเรียนอาชีวะ และสถาบันศิลปะ โดยทางโครงการ Fulbright จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ทำการจัดนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเบลเยียมและลักเซมเบิร์กกล่าวว่า “การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และประเทศเบลเยียมก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ โดยงบประมาณแผ่นดินจะถูกนำไปทุ่มให้กับการศึกษามากที่สุด โรงเรียนจะมีให้เลือกทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน สำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 4 ขวบไปจนถึง 18 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรืออาจจะเสียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์
มีนักเรียนเพียง 5% เท่านั้นที่เข้าโรงเรียนเอกชนในสวิตเซอร์แลนด์ โดยโรงเรียนจะสอนในภาษาที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่ ซึ่งภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี จะเป็นภาษาที่ใช้สอนมากที่สุด และตั้งแต่ระดับมัธยมเป็นต้นไป เหล่าเด็กๆ จะถูกแบ่งให้เล่าเรียนตามความสามารถและความถนัดที่พวกเขามี
อันดับ 1 ประเทศฟินแลนด์
ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีมาโดยตลอด และติดอันดับโลกในทุกๆ ครั้ง นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงในด้านการเรียนการสอนที่ไม่แบ่งตามความสามารถ โดยนักเรียนทุกคนจะถูกสอนเหมือนกัน ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างเด็กที่เก่งและไม่เก่งมีน้อยที่สุดในโลก ซึ่งโรงเรียนในฟินแลนด์จะให้การบ้านน้อยมาก อีกทั้งยังมีการสอบไม่บ่อยนัก
ขอบคุณที่มา : เพจ ประสบความสำเร็จ Somrej.com